เทศกาลโทกะเอบิสุ (Tohka Ebisu Matsuri)

เทศกาลโทกะเอบิสุ

หลังจากเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไม่นาน ในภูมิภาคคันไซจะจัดเทศกาลโทกะเอบิสุ จะเริ่มจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน ในวันที่ 9 มกราคม ถึง 11 มกราคมของทุกปี โดยศาลเจ้าใหญ่ในภูมิภาคคันไซ เพื่อให้ผู้คนขอพรให้ธุรกิจการค้าขายเจริญรุ่งเรือง ครอบครัวและบ้านเรือนปลอดภัยจากภัยอันตรายต่าง ๆ จากนั้นก็จะซื้อเครื่องรางประดับบ้านกลับไปด้วย คือ ฟุคุซาสะ福笹 เป็นกิ่งไม้ไผ่มงคลนำโชค

ในครั้งนี้พี่หมีจะพาทุกคนไปดูว่าในเทศกาลโทกะเอบิสุมีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจบ้าง รวมไปถึงสถานที่จัดเทศกาลที่มีชื่อเสียงด้วยนะครับ

ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับเทศกาลนี้กันก่อนดีกว่าครับ โทกะเอบิสุ เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อขอพรต่อท่านเอบิสุซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าขาย ทางคันไซจะเรียกเทพองค์นี้ว่า เอะเบซซัง และเป็นหนึ่งในเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดครับ
ในโอซาก้าคำว่า โทกะเอบิสุ จะมีความหมายแฝงว่า เอบิสุผู้ชะตาพันผูกกับวันที่ 10 โอซาก้าเป็นเมืองแห่งการค้าจึงกล่าวกันว่าเทศกาสโทกะเอบิสุนั้นมีความครื้นเครงมากกว่าเทศกาลปีใหม่เสียอีก บางครัวเรือนที่ทำการค้าขายเฝ้ารอเทศกาลนี้มากกว่าปีใหม่อีกด้วย

ระหว่างงานเทศกาลทั้งสามวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะตามแต่ละวันดังนี้

วันที่ 9 มกราคม คือ โยยเอบิสุ 宵戎 (คืนก่อนวันเทศกาลเอบิสุ)
วันที่ 10 มกราคม คือ ฮนเอบิสุ 本戎 (วันเทศกาลเอบิสุ) เป็นวันที่มีงานเฉลิมฉลองหลักๆของเทศกาล
วันที่ 11 มกราคม คือ โนโคริเอบิสุ 残戎 (วันที่โชคลาภหลงเหลือ) เป็นวันที่ให้ผู้คนได้มาขอพรกันวันสุดท้าย
สำหรับผู้ที่อยากไปเที่ยวงานเทศกาลนี้ พี่หมีขอแนะนำศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในการจัดงานเทศกาลสัก 3 แห่ง ตามนี้เลยครับ ศาลเจ้านิชิโนะมิยะ ศาลเจ้าอิมามิยะเอบิสุ และศาลเจ้าเกียวโตเอบิสุ

ศาลเจ้านิชิโนะมิยะ

1. ศาลเจ้านิชิโนะมิยะ
ในแต่ละปีจะมีผู้มาเข้าร่วมงานเทศกาลโทกะเอบิสุที่ศาลเจ้าแห่งนี้ประมาณหนึ่งแสนคน ไฮไลท์ของงานนี้คือ ในวันที่ 10 มกราคม เวลาเช้า 6:00 น. จะมีการแข่งขันวิ่งมาจากหน้าประตูเข้าไปยังศาลเจ้าระยะทาง 230 เมตร เพื่อแย่งชิงโชคลาภอันดับหนึ่ง โดยที่ผู้ที่วิ่งไปถึงศาลเจ้าอันดับ 1 ถึง 3 จะได้ชื่อว่า ฟุคุโอโตะโกะ (หมายถึง คนที่จะได้โชคดีไปตลอด 1 ปี) ซึ่งจะได้รับประกาศนียบัตร และเสื้อฮัปปิพิเศษ จากศาลเจ้าเป็นรางวัลด้วย

เครดิตภาพ https://nishinomiya-ebisu.jp/tookaebisu/index.html

2. ศาลเจ้าอิมามิยะเอบิสุ
งานเทศกาลโทกะเอบิสุของศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นงานเทศกาลยิ่งใหญ่ประจำปี โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากถึงล้านคนในแต่ละปี ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่อบวงสรวงแก่ท่านเทพเอบิสุตรงตามชื่อของศาลเจ้าเลย และความพิเศษของเทศกาลที่จัดขึ้นที่นี่ก็คือ ทางศาลเจ้าจะมีการคัดเลือกหญิงสาวมาเป็น ฟุคุมุซุเมะ (หมายถึง ผู้ที่มอบโชคให้ผู้อื่น) โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือนกันยายน และจะทำการคัดเลือกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม ในวันที่ 10 มกราคม หญิงสาวผู้นี้จะทำหน้าที่มอบเครื่องรางฟุคุซาสะ ในขบวนแห่เกี้ยวโฮเอะคาโกะ ให้ผู้ที่เข้าร่วมงานกันนะครับ

เครดิตภาพ https://www.imamiya-ebisu.jp/

ศาลเจ้าเกียวโตเอบิสุ
ศาลเจ้าเกียวโตเอบิสุ

3. ศาลเจ้าเกียวโตเอบิสุ

งานเทศกาลโทกะเอบิสุของศาลเจ้าแห่งนี้จะมีระยะเวลาการจัดงานที่ยาวกว่าศาลเจ้าอื่น ๆ โดยศาลเจ้าแห่งนี้จะเริ่มจัดงานตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 12 มกราคม รวมระยะเวลาทั้งหมด 5 วัน และในแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะด้วย ดังนี้

วันที่ 8 มกราคม คือ โชฟุคุไซ 招福祭 (วันนำโชคลาภ) จะมีขบวนแห่เกี้ยวไปยังศาลเจ้าภายในหมู่บ้านภาพยนตร์โตเอ อุซุมาสะ

วันที่ 9 มกราคม คือ โยยเอบิสุไซ 宵ゑびす祭 (คืนก่อนวันเทศกาลเอบิสุ) ภายในวันที่ 9 จะมีการถวายทูน่าเป็นของสักการะเพื่อเรียกโชคลาภ และภายในวันนี้ก็มีขบวนแห่เกี้ยวเช่นเดียวกับวันที่ 8

วันที่ 10 มกราคม คือ โทกะเอบิสุไทไซ หรือ ฮัทสึเอบิสุ 十日ゑびす大祭「初ゑびす」(วันเทศกาลโทกะเอบิสุ)

วันที่ 11 มกราคม คือ โนโคริฟุคุไซ 残り福祭 (วันที่โชคลาภหลงเหลือ) จะมีการมอบฟุคุซาสะจากไมโกะซัง (เกอิชา) จากเมืองกิอนและเมืองมิยากาวะให้กับผู้ที่มาเข้าร่วมงานเทศกาลด้วย

วันที่ 12 มกราคม คือ เทปปุคุไซ 撤福祭 (วันถอนโชคลาภ)

เครดิตภาพ
https://www.imamiya-ebisu.jp/
https://www.okeihan.net/k-press/outing/202306-oyakojikan.php

https://ja.kyoto.travel/event/single.php?event_id=3869
https://news.yahoo.co.jp/expert/articles/8afc032d168be84a075e2368e82a7ba108d48b0f

ฟุคุซาสะ

ถ้าไปร่วมงานเทศกาลโทกะเอบิสุ เราควรซื้อฟุคุซาสะมาเป็นเครื่องรางไว้ประดับบ้านหรือร้านค้าของตัวเองด้วยครับ ฟุคุซาสะทำมาจากก้านไม้ไผ่ ซึ่งบนตัวไม้ไผ่จะมีการประดับไปด้วยของมงคลต่าง ๆ เช่นป้ายคำอธิษฐาน ปลาไท (ปลากระพง) เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงเป็นปลาไทนั้น ไผ่ของฟุคุซาสะ จะเปรียบเสมือนกับคันเบ็ด ส่วนปลาไทมาจากการเล่นพ้องเสียงของคำศัพท์อย่าง เมะเดะไท คือ การแสดงความยินดี และปลาไทเป็นปลาที่มีอายุยืนยาวมากกว่าปลาหลาย ๆ ชนิด สรุปท้ายก็เหมือนกับการเอาคันเบ็ด (ฟุคุซาสะ) ไปตกปลาไทนั่นเองครับ

ในส่วนของการประดับฟุคุซาสะนั้น ถ้าบ้านไหนที่มีแท่นบูชาที่สูงเหนือหัวก็แนะนำให้ตั้งไว้บนแท่นบูชาไว้ได้เลยครับ แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีแท่นบูชา ก็จะมีแนะนำอยู่หลัก ๆ 3 จุดครับ ก็คือ ประดับไว้ใกล้ประตูบ้าน ด้านใน ในห้องรูปแบบญี่ปุ่น หรือห้องนั่งเล่น โดยแขวนบนกำแพงในจุดที่เหนือกว่าศรีษะ หรือเหนือกว่าระดับสายตาครับ

เทศกาลโทกะเอบิสุ
เทศกาลโทกะเอบิสุ