เทศกาลชมจันทร์ หรือ お月見 (Otsukimi)
ค่ำคืนมืดมิดส่องสว่างไปด้วยแสงสีนวลของดวงจันทร์ เกิดเป็นประเพณีมีมาตั้งแต่สมัยโบราณใน ค.ศ. 500 เหล่าขุนนางชนชั้นสูง พากันเชยชมความงามของดวงจันทร์กระทบผิวน้ำ ขับร้องเสียงเพลงไพเราะเสนาะหูช่วยสร้างความบันเทิงใจไปพร้อมกับการลิ้มรสดังโงะ และดื่มด่ำไปกับสุรา
ในยุคสมัยเอโดะ ประเพณีนี้ได้แพร่หลายสู่กลุ่มคนชนชั้นทั่วไป กลายเป็นเทศกาลแห่งการเก็บเกี่ยว ได้ถ่ายทอดความเชื่อต่อกันว่า พระจันทร์นั้นมีสิ่งลี้ลับ “หากขอพรอธิษฐานให้พืชผลเกษตรสมบูรณ์ จักประสงค์ดั่งใจหมาย” จึงมีการนำพืชพันธุ์เกษตรที่ได้จากการเก็บเกี่ยวใหม่ ๆ มาประกอบเป็นเครื่องบวงสรวง เพื่อไหว้ขอพรต่อพระจันทร์ที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผลผลิต
เทศกาลชมจันทร์จะถูกจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเข้าฤดูใบไม้ร่วงใหม่ ๆ ตามปฏิทินทางจันทรคติเรียกว่า “中秋の名月 (Chūshū no meigetsu)” แปลตรงตัวได้ว่า “เดือนพระจันทร์งามในฤดูใบไม้ร่วง” และแม้จะเป็นคืนที่พระจันทร์งดงามมากก็ตาม แต่บ่อยครั้งคืนที่ 15 ก็มักไม่ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำทุกครั้งเสมอไป
เครื่องบวงสรวงประกอบไปด้วย
お団子 (dangotsukimi) ดังโงะทสึกิมิ ปั้นลูกกลมวางเรียงกันเป็นพีระมิด โดยคืน 15 ค่ำจะปั้น 15 ลูก และคืน 13 ค่ำจะปั้น 13 ลูก เสมือนการส่งคำอธิษฐานไปถึงพระจันทร์
ススキや萩 (susukihagi) หญ้าซึซึกิ หรือหญ้าแพมพัสญี่ปุ่น ดอกหญ้าสีทอง นำมาประดับใต้ชายคาบ้าน หรือสวน เชื่อว่าจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย ปกป้องพืชผลจากวิญญาณร้าย ทำให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์
ผักผลไม้ของฤดูใบไม้ร่วง ที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยว เพื่อแสดงความขอบคุณที่ทำให้พืชผลเหล่านี้ อุดมสมบูรณ์งอกงาม เช่น เผือก เกาลัด ถั่วแระญี่ปุ่น ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีประเพณีแปลก ๆ คือ お月見どろぼう (otsukimidorobou) หรือ โจรชมจันทร์ โดยให้เด็ก ๆ ญี่ปุ่นในระแวกหมู่บ้านออกมาขโมยดังโงะ หรือเครื่องบวงสรวงจากบ้านไหนก็ได้ พืชผลเกษตรจากไร่ไหนก็ได้ เชื่อกันว่า หากบ้านไหนถูกขโมยดังโงะ หรือเครื่องบวงสรวงไป พืชผลทางการเกษตรของบ้านหลังนั้นจะอุดมสมบูณ์งอกงาม เปรียบเสมือนเด็ก ๆ ที่ขโมยดังโงะไป คือ พระจันทร์ ที่ได้รับประทานเครื่องบวงสรวงและรับคำอธิษฐานของเราไปด้วย ซึ่งประเพณีนี้จะได้รับอนุญาตให้ทำได้เพียงตอนเย็นของเทศกาลเท่านั้น
ในปัจจุบัน เทศกาลนี้ยังคงจัดขึ้นอยู่ทุกปี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยนำขนมหรือสินค้าต่าง ๆ มาวางแจกให้เด็ก ๆแทน มีลักษณะคล้ายกับกิจกรรม “ฮาโลวีนของต่างประเทศหรือ Trick or Treat” ที่น้อง ๆ จะเคาะประตูตามบ้านพร้อมกระเป๋าใส่ขนม ในประเทศญี่ปุ่นก็มีความคล้ายคลึงกัน โดยแต่ละบ้านหรือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ จะมีการวางขนมไว้ในกล่อง หรือตะกร้า พร้อมกระดาษโน๊ตน่ารัก ๆ ตามประเพณี ให้น้อง ๆ ได้หอบขนมกลับบ้านกัน