เทศกาลเซ็ทสึบุน
เทศกาลปาถั่วไล่ยักษ์
เทศกาลเซ็ทสึบุนคือเทศกาลอะไรกันนะ ทำไมถึงได้มียักษ์ออกมาด้วย และพิธีการปาถั่วจะช่วยอะไรบ้าง ในครั้งนี้เราจะพาทุก ๆ คนไปทำความรู้จักกับเทศกาลเซ็ทสึบุน อีกหนึ่งเทศกาลที่คนญี่ปุ่นต่างพากันตั้งตารอให้มาถึง
ก่อนที่จะเข้าสู่งานเทศกาล เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า เซ็ทสึบุน「節分」กันก่อนดีกว่า เซ็ทสึบุน「節分」มีความหมายว่า วันแบ่งฤดูกาล ใช้เรียกวันสุดท้ายก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่ฤดูกาลใหม่ แต่สาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นวันเซ็ทสึบุนเพราะว่าในอดีตประเทศญี่ปุ่นจะถือว่าปีใหม่เริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ สามารถเริ่มทำการเพาะปลูกได้ ส่วนวันที่เริ่มต้นใบไม้ผลิจะเรียกว่า ริชชุน 「立春」(วันที่ 4 กุมภาพันธ์)
หลังจากรู้ความหมายของคำว่าเซ็ทสึบุน「節分」แล้ว เรามาทำความรู้จักกับตัวงานเทศกาลกันครับ เทศกาลเซ็ทสึบุน ตามศาลเจ้าจะจัดงานปัดเป่าสิ่งอัปมงคลช่วงกลางวัน แต่ตามบ้านเรือนจะมีกิจกรรมขับไล่สิ่งชั่วร้ายในตอนกลางคืน เพราะเชื่อว่ายักษ์จะมาในตอนมืด ๆ จะมีคนหนึ่งใส่หน้ากากยักษ์ (โอนิ)「鬼」 และอีกคนใส่หน้ากากโชคลาภ (โอคาเมะ)「おかめ」ส่วนใหญ่คนที่ใส่มักเป็นพ่อแม่ แล้วสมาชิกในบ้านก็จะปาถั่วใส่ทั้งสองคน โดยเฉพาะคนใส่หน้ากากยักษ์ให้ออกไปนอกบ้านหรือนอกอาคาร โดยพูดตามไปด้วยว่า「鬼は外、福はうち」(โอนิ วะ โซโตะ ฟุคุ วะ อุจิ) แปลว่า “ยักษ์จงออกไป โชคลาภจงเข้ามา”
สงสัยกันไหมครับว่าทำไมต้องไล่ยักษ์ด้วย เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่ายักษ์ (โอนิ)「鬼」เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของสิ่งไม่ดี และสิ่งไม่ดีจะปรากฎออกมาในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ถ้าพูดถึงยักษ์แล้ว จะนึกถึงภาพแบบไหนกันบ้าง บางคนอาจจะนึกภาพคนตัวใหญ่ที่มีเขางอกขึ้นมาบนหัว หรือบางคนจะนึกถึงคนที่มีตัวสีแดงหรือน้ำเงิน แต่ว่าในวรรณกรรมและภาพวาดของญี่ปุ่น รูปลักษณ์ของยักษ์มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาหลายยุคหลายสมัย ยักษ์จึงค่อย ๆ มีรูปร่างในแบบที่เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ ในทุกวันนี้
การปาถั่วเป็นหนึ่งในพิธีของเทศกาลเรียกว่า มาเมะมากิ「豆まき」และจะใช้ถั่วเหลืองหรือที่จะเรียกอีกแบบคือถั่วนำโชค (ฟุคุมาเมะ)「福豆」เพราะเชื่อกันว่าถั่วเหลืองมีสารอาหารต่าง ๆ อัดแน่นอยู่เยอะ จึงมีพลังในการจัดการยักษ์ แต่ในบางพื้นที่จะใช้ถั่วลิสงแทนถั่วเหลือง ถั่วที่ใช้ต้องผ่านการคั่วก่อน มิเช่นนั้น ถั่วที่ปาออกไปอาจจะงอกออกมาได้ ซึ่งถือเป็นการปล่อยให้สิ่งที่ไม่ดีเจริญงอกเงยขึ้นมา ดังนั้นห้ามลืมคั่วถั่วด้วยนะครับ
เมื่อจบพิธีปาถั่วแล้วก็จะเป็น การกินถั่วที่ปาออกไปนั่นเองครับ แต่จะใช้ถั่วที่ปาแล้วหล่นอยู่ในตัวบ้านนะครับ คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าถ้ากินถั่วให้เท่ากับอายุตัวเองหรือมากกว่า 1 เม็ด จะเป็นการขอพรให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วยง่าย ๆ ในช่วงที่ผ่านมาผู้คนได้เปลี่ยนรูปแบบการปาถั่วไปจากสมัยก่อน จากที่พากันปาแบบปกติเปล่า ๆ ในปัจจุบันจะทำการปาแบบใส่ถุงเพื่อความสะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพที่กินเข้าไปและทำให้ง่ายสำหรับการเก็บกวาดหลังจากนั้นด้วยนะครับ
ภายในเทศกาลเซ็ทสึบุนจะมีอีกหนึ่งของกินเพื่อใช้เสริมโชคลาภในปีนั้น ๆ ก็คือ เอะโฮมากิ「恵方巻き」ครับ เอะโฮมากิ คือ ซูชิโรลขนาดใหญ่ที่ว่ากันว่าถ้ากินโดยหันหน้าไปยังทางทิศแห่งโชคดีของปีและทำการนึกถึงหรือขอพรเรื่องที่ตัวเองปราถนาไปด้วย ห้ามพูดอะไรออกมาระหว่างกินและบางคนก็เชื่อว่าอย่ามีเสียงดังขณะเคี้ยวจนหมด ความปราถนาที่ต้องการจะเป็นจริงขึ้นมา เอะโฮมากิจะมีไส้ที่มีความมงคลประกอบอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 อย่าง และยังสื่อไปถึงเทพแห่งโชคลาภทั้ง 7 อีกด้วย โดยจะมีดังนี้
• かんぴょう (คัมเปียว) คือ ใยขาวของลูกน้ำเต้า มีรูปทรงที่บางและยาวสื่อได้ถึง การอธิษฐานให้มีชีวิตที่ยืนยาว และความรักที่สมหวังมั่นคง
• しいたけ (ชิตาเกะ) คือ เห็ดชิตาเกะหรือเห็ดหอม มีรูปทรงที่เหมือนหมวกทหารจินงาสะ สื่อได้ถึงการปกป้องคุ้มครอง
• 卵焼き/伊達巻 (ทามะโกะยากิ/ดาเทะมากิ) คือ ทามาโกะยากิ/ดาเมะมากิ ในส่วนสีเหลืองทองของไข่หวานสื่อได้ถึงเงินทองเพิ่มพูน และดาเทะมากิมีรูปทรงคล้าย ๆ กับม้วนหนังสือจึงสื่อได้ถึงความรู้และปัญญาที่มากขึ้น
• うなぎ(อุนางิ) คือ ปลาไหล มีประโยคที่ว่าうなぎのぼり (อุนางิ โนะโบะริ) หมายถึง การเลื่อนขั้น การยกระดับ จึงสื่อได้ถึงความสำเร็จในการงาน และด้วยความยาวของตัวปลาไหลยังสื่อได้ถึงชีวิตที่ยืนยาวได้อีกด้วย
• 桜でんぶ (ซากุระ เด็มบุ) คือ ผงปลาซากุระ เป็นการนำซากุระมาบดเป็นผงและปลาเนื้อขาวอย่างปลาไทที่พ้องเสียงกับคำว่า「めでたい」(เมะเดะไท) หมายถึงความมงคล ความยินดี มาทำให้เป็นผงและปรุงรสชาติ
• 胡瓜 (คิวริ) คือ แตงกวา ชื่อในภาษาญี่ปุ่นไปพ้องเสียงกับคำว่า 九利 ที่หมายถึง ประโยชน์ทั้ง 9 ประการ
• 海老 (เอบิ) คือ กุ้ง รูปทรงที่โค้งงอของกุ้งสื่อได้ถึง อายุยืนยาว
สำหรับผู้ที่ต้องการจะกินเอะโฮมากิเพื่อเสริมโชคลาภนะครับ ทิศทางนำโชคในการกินเอะโฮมากิจะเปลี่ยนไปทุกปี สำหรับปี 2024 ทิศทางนำโชคคือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือนะครับ